“ตะกอง” ตำนานแห่งลำตะคอง




"ตะกอง” ตำนานแห่งลำตะคอง


      ตะกองอาจเป็นชื่อที่หลายๆคนคงไม่เคยได้ยิน ชื่อของสัตว์ชนิดนี้มาก่อน และอาจสงสัยว่ามันมีความแตกต่างจากอีกัวนา หรือไม่ มีที่มาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไรต่อระบบนิเวศ...

     ตะกอง (Chinese water dragon) หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า ลั้ง หรือ กิ้งก่ายักษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ของตะกอง คือ Physignathus cocincins ตะกองเป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่าขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย อยู่ในวงศ์ Agamidae มีรูปร่างคล้าย อีกัวนา ที่พบในอเมริกากลางและอเมริกาใต้เป็นกิ้งก่าโดยลักษณะทั่วไปของตะกองมีลำตัวสีเขียวแก่ หรือ เขียวสด เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาวประมาณ 90-120 เซนติเมตร เพศเมียจะมีขนาดตัวที่เล็กกว่าเพศผู้ ตะกองวัยอ่อนมีลายบั้งจางๆสีขาวตามตัว จะหายไปเมื่อโตขึ้น เหนียงมีสีชมพูอ่อน หางมีแถบลายสีดำ และสามารถสังเกตจากแผงหนาม(รยางค์)ที่ตั้งแต่หัวถึงโคนหางตัวผู้จะมีความยาวของแผงหนาม(รยางค์)ยาวกว่าเพศเมีย สัตว์ชนิดนี้เวลามันตกใจพบว่ามันจะวิ่ง 2 ขา แล้วหุบขาหน้าไว้แนบชิดลำตัว โดยปกติเมื่อภัยมามันจะกระโจนลงน้ำ และสามารถดำน้ำได้เป็นเวลานานๆ ส่วน อีกัวนาหรือชื่อที่ตามหลักสากลคือกรีนอีกัวนา อวัยวะที่โดดเด่นคือ เหนียงที่เป็นแผ่นหนังกลมขนาดใหญ่ที่ห้อยอยู่ใต้คาง แผงหนามที่มีตั้งแต่คอ กลางหลังเรียงตัวต่อเนื่องไปจนถึงหาง ที่แก้มจะเป็นเกล็ดแผ่นวงกลมขนาดใหญ่ที่เรียกว่า subtympanic shield และมีช่องหูที่อยู่ในแนวหลังตาแต่ละข้าง มีหางยาวซึ่งจะเป็นอวัยวะที่ช่วยในการป้องกันจากสัตว์ผู้ล่า โดยหางที่ยาวแข็งแรงจะฟาดใส่ศัตรูสร้างความเจ็บปวดได้ และหางสามารถสะบัดบางส่วนให้หลุดได้เหมือนกับกิ้งก่าชนิดอื่นๆ เพื่อหนีได้เร็วขึ้น ดังนั้นกิ้งก่า 2 ชนิดนี้ไม่ใช่ญาติพี่น้องกันแต่อย่างใด โดยตะกองมีบทบาทในการควบคุมประชากรแมลง และยังเป็นนักย่อยสลายซากปลา กุ้ง หอย ปู รวมถึงเศษเนื้อสัตว์ที่ตายอยู่บริเวณริมน้ำ

(ตะกอง VS กรีนอีกัวน่า)

                Chinese water dragon — Autthaphon Paenkham Korat Zoo                                                           Green Iguana - Arnuparp Yhamdee


สถานภาพการอนุรักษ์

     ในปัจจุบันตะกองถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และสถานภาพเพื่อการอนุรักษ์ตามเกณฑ์ของ (IUCN) สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติจึงได้กำหนดชนิดสัตว์ไว้ในบัญชีแดง (IUCN Red list) จัดให้อยู่ในประเภทมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU) ซึ่งเกิดจากจำนวนประชากรในธรรมชาติลดน้อยลงอย่างมาก จากการล่าเพื่อเป็นอาหารหรือเป็นสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงการถูกคุกคามแหล่งที่อยู่อาศัย

     สวนสัตว์นครราชสีมาจึงมีโครงการอนุรักษ์ และเพาะขยายพันธุ์ตะกอง เพื่อเพิ่มทรัพยากรของตะกองไม่ให้สูญพันธุ์ และเพาะขยายพันธุ์เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยโครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561-2564 ปัจจุบันสวนสัตว์นครราชสีมาได้เพาะขยายพันธุ์ตะกองได้สำเร็จ และมีการจัดทำคู่มือการเพาะเลี้ยงตะกองเพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจได้ศึกษาหาความรู้ และมีความตระหนักถึงการอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ป่าหายาก รวมไปถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

   


การเพาะขยายพันธุ์ตะกอง — งานอนุรักษ์วิจัย และสุขภาพสัตว์ สวนสัตว์นครราชสีมา

เรื่องเล่าในสวนสัตว์นครราชสีมา

     ในอดีตสวนสัตว์นครราชสีมามีตะกองที่อยู่ในความดูแล 2 ตัวซึ่งเป็นเพศเมีย อยู่มาวันหนึ่งมีคุณครูจาก โรงเรียนปากช่อง2 โทรมาแจ้งกับทางสวนสัตว์นครราชสีมาว่าพบเจอตะกอง 1 ตัว และดูเหมือนจะป่วย ไม่รู้จะทำอย่างไรดี จึงขอให้สวนสัตว์นครราชสีมารับไปรักษา ปรากฏว่าตะกองเป็นเพศผู้ และมีลักษณะเชื่องคล้ายเคยเป็นสัตว์เลี้ยงมาก่อน สวนสัตว์นครราชสีมาจึงได้นำมารักษา และนำมาเพาะขยายพันธุ์ต่อ แต่เนื่องด้วยเหตุผลหรือองค์ประกอบบางอย่างส่งผลให้ตะกองไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ดังนั้นสวนสัตว์นครราชสีมาจึงได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของแหล่งที่อยู่อาศัยเดิมของตะกองจนนำมาสู่การออกแบบสภาพแวดล้อมจำลอง(ในส่วนเพาะขยายพันธุ์)ให้เหมาะแก่การขยายพันธุ์ อาทิ เช่น ติดตั้งพัดลมเพื่อให้ระบบไหลเวียนอากาศใกล้เคียงกับสภาพภูมิประเทศเดิมที่ตะกองอาศัยอยู่ จัดทำระบบพ่นฝอยของน้ำเพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ มีการจัดทำพื้นที่วางไข่ให้กับตะกองโดยใช้ทรายหรือดินที่มีความใกล้เคียงกับพื้นที่ริมตลิ่ง  รวมทั้งในส่วนเพาะขยายพันธุ์เพิ่มจุดหลอดไฟ และจุดรับแสง UVA  และ UVB  ทดแทนแสงอาทิตย์ โดยขั้นตอนทั้งหมดจะจำลองให้ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมเดิมที่ตะกองเคยอยู่อาศัยมากที่สุด โดยการเพาะเลี้ยงตะกองแบบระบบ captive bleeding นี้จะช่วยในการปรับอุณหภูมิเพื่อกำหนดเพศของตะกองแรกเกิดได้แม่นยำอีกด้วย

   
                                                                           Chinese water dragon — Autthaphon Paenkham Korat Zoo
                                      ตะกองเพศผู้                                                                                  ตะกองเพศเมีย


เรื่องเล่าจากลุงเขียง
โดย  คุณกีรติ กันยา อดีต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา
จากบทสัมภาษณ์เรื่องราวการอนุรักษ์ตะกองภายในสวนสัตว์นครราชสีมา



     ตะกอง หรือ ลั้ง ในประเทศไทยมีการกระจายตัวอยู่ในทุกภาคของประเทศไทยพบมากที่สุดในภาคตะวันออก ซึ่งตะกองมีความเกี่ยวเนื่องกับจังหวัดนครราชสีมาคืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง หรือลำตะคลองจนเป็นที่มาของชื่อตะกองเนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศบริเวณนั้นเหมาะสมทำให้มีตะกองอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
   ด้วยสวนสัตว์นครราชสีมามีโครงการศึกษาวิจัยและมีความต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับตะกอง ให้ถ่องแท้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลไปสู่ระดับประชาชนในเขตอำเภอปากช่องให้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ พบว่าประชากรตะกองในเขต อำเภอปากช่องกว่า 90% นั้นมีสภาพไม่สมบูรณ์เท่ากับตะกองที่อยู่ในเขตน้ำตก 15 ชั้น ที่จังหวัดจันทบุรีความสมบูรณ์ในที่นี้คือหางไม่ขาดมีสีตามลำตัวที่ชัด และไม่พบตะกองวัยเด็กในเขตลำตะคองเลยซึ่งเป็นเรื่องน่าใจหายอย่างมาก ตัวแปรที่ทำให้ตะกองลดจำนวน และมีความไม่สมบูรณ์ของร่างกายนั้นเกิดจากการพัฒนา สิ่งปลูกสร้างทั้งสองข้างทางริมลำตะคองไม่ว่าจะเป็นรีสอร์ท ร้านอาหาร บ้านพักตากอากาศมีการเทพื้นซีเมนต์ ริมตลิ่งหรือแม้แต่การสร้างฝายเพื่อชะลอน้ำที่เป็นแบบฝายซีเมนต์ไม่ใช่แบบกึ่งมีชีวิต (ใช้วัสดุธรรมชาติสร้าง) ทำให้ตะกองไม่สามารถวางไข่บริเวณพื้นที่ริมน้ำที่เป็นดินทรายได้ รวมถึงเมื่อมีศัตรูตามธรรมชาติ เช่น สุนัข แมว นกอินทรี เข้าโจมตี ทำให้เป็นอุปสรรคในการหลบหนีของตะกอง หรือวางไข่ขยายพันธุ์ แต่ยังมีวัดที่สนับสนุนการอนุรักษ์ตะกองอยู่ในบริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำลำตะคองคือวัดกระเจียวหรือวัดอำนวยผลโดยเจ้าอาวาสวัดท่านได้มีการจัดภูมิทัศน์แบบตามธรรมชาติเอื้อต่อการอยู่อาศัยของตะกอง และยังมีข้อกำหนดให้ภายในวัดไม่มีการเลี้ยงสุนัข แมวหรือ ศัตรูตามธรรมชาติของตะกองเด็ดขาดทำให้พื้นที่วัดนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของตะกอง ตะกองจึงมีความสมบูรณ์และอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่วัดกระเจียวอย่างมีความสุข
    เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นการใช้สเปรย์ปรับอากาศ การทิ้งขยะ เศษพลาสติก หลอดกาแฟ เป็นต้น การสร้างสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ การเพิ่มความร้อนให้โลกทำให้เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ และลานีญา เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างน้อยเฉลี่ยปีละ 1 องศาเซลเซียสทำให้มีผลต่อการกำหนดเพศของตะกองทำให้ตะกองรุ่นลูกเป็นเพศผู้ทั้งหมดอาจทำให้เกิดการผสมพันธุ์กันในเครือญาติ (เลือดชิด)ทำให้สายพันธุ์มีความด้อย จนนำไปสู่การสูญพันธุ์ได้ในอนาคตอันใกล้นี้

"เมื่อใดที่สภาพแวดล้อมถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ อาจส่งผลทำให้อุณหภูมิในธรรมชาติสูงขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 1 องศาเซลเซียส
ซึ่งจะส่งผลกระทบในอนาคตต่อการกำหนดเพศของตะกอง ทำให้ตะกองรุ่นลูกนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นเพศผู้ทั้งหมด จากอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นในแต่ละปี
ดังนั้น อนาคตข้างหน้าหากตะกองในธรรมชาติเป็นเพศผู้ทั้งหมดตะกองอาจสูญพันธุ์ในที่สุด”

-Tobezy-

แหล่งที่มาของข้อมูล
- โครงการเพาะขยายพันธุ์ตะกอง (Physignathus Cocincinus) เพื่อการอนุรักษ์ สำนักอนุรักษ์ และวิจัยองค์การ
สวนสัตว์ สวนสัตว์นครราชสีมา
- คู่มือการเพาะเลี้ยงตะกอง โดย สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ดำเนินการโดย กลุ่มอนุรักษ์ลำตะคอง
- https://www.iucnredlist.org/species/104677699/104677832
- นายกีรติ กันยา อดีต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา
- นายนิรัติศัย ฤทธิจันทร์ นักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์ ๖ สวนสัตว์นครราชสีมา
- https://www.iucn-isg.org/species/iguana-species/iguana-iguana/