หากพูดถึงเป็ดก่า หลายๆคนคงไม่คุ้นเคย หรือไม่เคยได้ยินชื่อของสัตว์ชนิดนี้มาก่อน แล้วมันมีหน้าตาแบบไหนกัน มีความสำคัญอย่างไร ทำไมถึงต้องอนุรักษ์...
สวนสัตว์นครราชสีมามีโครงการอนุรักษ์ และเพาะขยายพันธุ์เป็ดก่าเป็ดหงส์ และ นกกระสาปากเหลือง เพื่อเพิ่มทรัพยากรนกน้ำหายาก ในสวนสัตว์นครราชสีมา โดยโครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2558-2560 ซึ่งปัจจุบันเป็ดก่าถือเป็นเป็ดป่าที่หายากและเพาะขยายพันธุ์ได้ยากชนิดหนึ่ง มีการเพาะขยายพันธุ์ได้ด้วยฝีมือมนุษย์เพื่อการอนุรักษ์ ได้แค่ไม่กี่ครั้ง และถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพุทธศักราช 2562 สถานภาพ ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้อยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์ (EN - Endangered species) สำหรับประเทศไทยเป็ดก่าอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR - Critically Endangered ) เป็นเหตุให้สวนสัตว์นครราชสีมาได้มีการเพาะขยายพันธุ์และศึกษาพฤติกรรมเป็ดก่าในกรงเลี้ยง ภายในส่วนแสดงของสวนสัตว์นครราชสีมาระหว่างปีงบประมาณ 2558-2560 โดยทำการศึกษาพฤติกรรมและเพาะขยายพันธุ์จากเป็ดก่าจำนวนตัวผู้ 3 ตัว และตัวเมีย 3 ตัว
White-winged Duck — Autthaphon Paenkham Korat Zoo
สถานภาพการอนุรักษ์
การเลี้ยงเป็ดก่าในกรงเลี้ยงเริ่มต้นครั้งแรกที่ London Zoo ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2423 (Sclater,1880) จากนั้นก็มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่าตามสวนสัตว์ต่างๆ ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ได้เริ่มเลี้ยงเป็ดก่าเช่นกัน แต่ไม่มีสวนสัตว์แห่งใด ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์เป็ดก่า จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2479 สวนสัตว์ใกล้เมือง Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ สามารถขยายพันธุ์เป็ดก่าในกรงเลี้ยงได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของโลก (Mackenzie and Kear,1976)
ประเทศไทยเราเคยส่งเป็ดก่าจำนวน 10 ตัว ไปให้ The wildfowl Trust ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2498 แต่เป็ดก่าเหล่านั้นไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ (Johnstone,1972) ต่อมามูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าสากล (World Wildlife Foundation) ได้บรรจุการอนุรักษ์เป็ดก่า โดยจัดทำโครงการอนุรักษ์เป็ดก่าจำนวน 12 ตัว (เพศผู้ 7 เมีย 5 ตัว) ได้มีการส่งต่อเป็ดก่าจาก Bardobi Tea Estate (รัฐอัสสัม) ประเทศเนเธอร์แลนด์ไปที่ The wildfowl Trust เมือง Slimbidge ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2512 - 2513 หลังจากนั้นไม่นาน The wildfowl Trust ได้ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์เป็ดก่าเป็นแห่งที่สองของโลก เมื่อ พ.ศ.2514 (Mackenzie และ Kear (1976) นอกจากนี้ทาง Jersey Wildife Preservtion Trust ก็สามารถขยายพันธุ์เป็ดก่า ในกรงเลี้ยงได้เช่นกัน (JWPT,1984) สำหรับสหรัฐอเมริกา ประสบผลสำเร็จในการขยายพันธุ์ เป็ดก่าในกรงเลี้ยงเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ 2521 (Todd,1979)
White-winged Duck — Barry Nicolle WWT Slimbridge White-winged Duck — Phoebe Vaughan WWT Slimbridge
การอนุรักษ์ในประเทศไทย
โครงการอนุรักษ์เป็ดก่าได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกในประเทศไทยโดยการประสานงาน ของนายไพโรจน์ สุวรรณกร รองอธิบดีกรมป่าไม้ กับ Wildfowl & Wetlands Trust (WWT) ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2526 จากการประสานงานดังกล่าวกรมป่าไม้ได้รับเป็ดก่าจาก WWT จำนวน 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2527 และปี พ.ศ. 2530 โดยมีบริติช แอเวย์ (British Airways) อนุเคราะห์การขนส่ง นอกจากนี้ Hong Kong Zoological and Botanical Gardenes ยังได้ส่งเป็ดก่ามาเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าวเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ.2528 ทั้งนี้โดยมี คาเธ่ย์ แปซิฟิค แอร์เวย์ (Cathay Pacific Airways) อนุเคราะห์การขนส่ง หลังจากนั้นทางกรมป่าไม้ได้มอบเป็ดก่าให้แก่องค์การสวนสัตว์ฯ จำนวน 2 ครั้ง รวมทั้งหมด 6 ตัว
เป็ดก่า เป็นนกประจำถิ่นที่หาได้ยาก และปริมาณน้อยมาก พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ สวนสัตว์นครราชสีมา ได้รับบริจาคเป็ดก่าเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2551 จำนวน 2 ตัว และได้เริ่มเพาะเลี้ยงเรื่อยมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 สวนสัตว์นครราชสีมาสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยได้ลูกเป็ดก่าจำนวน 2 ตัว และในปีเดียวกันนั้นก็ได้ รับบริจาคเป็ดก่าเพิ่มอีกจำนวน 3 คู่ จำนวน 6 ตัว สำหรับเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในการเพาะ ขยายพันธ์ุเป็ดก่า ถัดมาในปี พ.ศ. 2554 ก็ประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์ได้ลูกเป็ดก่าเพิ่มขี้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี พ.ศ. 2558 สวนสัตว์นครราชสีมาได้มีโครงการอนุรักษ์และวิจัยการเพาะขยายพันธุ์เป็ดก่าในสวนสัตว์นครราชสีมา เพื่อการเพาะขยายพันธุ์จำนวนประชากรเป็ดก่าให้เพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบันสวนสัตว์นครราชสีมา มีเป็ดก่าอยู่ในการดูแลมากกว่า 50 ตัว และสวนสัตว์นครราชสีมาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ในอนาคต ต่อไป
เรื่องเล่าจากธรรมชาติ
โดย คุณปริญญา ผดุงถิ่น จากคอลัมน์ ทัวร์ทโมน
เรื่องราวในธรรมชาตของเป็ดก่านั้น เราไม่ค่อยได้ยินหรือได้เห็นสักเท่าไร แต่มีบทความหนึ่งที่อาจจะบอกเล่าเรื่องราวในธรรมชาติของเป็ดก่าได้ เราเลยขอหยิบบทความของคุณปริญญา ผดุงถิ่น ที่ได้เขียนไว้ในคอลัมน์ ทัวร์ทโมน มาให้อ่านกัน เรื่องราวตามนี้เลย
เป็ดก่า เกาะบนเถาวัลย์สูงจากพื้น 5-6 เมตร เป็นภาพที่หาดูได้ยาก พวกนกเป็ดน้ำในบ้านเราแทบทั้งนั้นอาศัยตามท้องน้ำโล่งกว้าง จะมียกเว้นก็ตัวเดียวคือเป็ดก่า (White-winged Duck, White-winged Wood-Duck) เจ้านี่เป็นเป็ดป่าโดยกำเนิด อาศัยอยู่แต่ตามแหล่งน้ำในป่าเท่านั้น เป็ดอื่นๆ แม้แต่ตัวที่หายากมากๆ ในเมืองไทย พอถึงฤดูหนาว ก็มีโอกาสจะบินอพยพมาให้ดูตามแหล่งน้ำใหญ่ แต่เป็ดก่าไม่ทำเช่นนั้น มันยังคงหมกตัวอยู่ในป่าลึก ไม่มีการออกมาเพ่นพ่านให้เป็น "เป้าสโคป" อย่างเป็ดอื่น ความที่เป็ดก่ามีประชากรน้อยมาก ทั้งในเมืองไทยและในระดับโลก ประกอบกับนิสัยชอบซ่อนตัวแต่ในป่าห่างไกล แถมยังออก หากินเวลากลางคืนมันจึงเป็น "นกแพง" ที่เจอตัวยากที่สุดตัวหนึ่ง!
เป็ดก่า จัดเป็นนกขนาดใหญ่ เปรียบเทียบด้วยภาษาชาวบ้าน ประมาณว่าตัวพอๆ กับเป็ดเทศ แต่ที่ค้านกับขนาดตัวเทอะทะ เป็นสมรรถนะการบิน สามารถบินทะลุแนวไม้ได้คล่องแคล่วรวดเร็ว แพร่กระจายพันธุ์ตั้งแต่แถบอินเดีย ลงมาถึงเอเชียอาคเนย์ ลามไปใต้สุดที่เกาะชวาและสุมาตรา
ประเมินรวมทั้งหมดไม่น่าจะมีถึง 1,000 ตัว โดยประชากรเป็ดก่าแตกฉานซ่านเซ็น กระจัดกระจายเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอยู่ตามป่าลึก ที่ต่างๆ
ขอขอบคุณ
ข่าวสดออนไลน์ คอลัมน์ ทัวร์ทโมน คุณปริญญา ผดุงถิ่น
เอกสารข้อมูลอ้างอิง : วีระพล บุญชูดวง. 2554. การเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน จังหวัดสระแก้ว. วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ปรีชา ไพรินทร์. 2551. การศึกษาพฤติกรรมของเป็ดก่า (Cairina scutulata) ในสวนสัตว์เชียงใหม่ วิทยานิพนธ์.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
กมลทิพย์ พรมเพ็ชร์. 2539. การศึกษาการวางไข่และลำดับขนปกคลุมตัวของเป็ดก่าในสภาพกรงเลี้ยง. วิทยานิพนธ์.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
กรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.2543.การเลี้ยงเป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี.ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่ง ประเทศไทย จำกัด.79 ถนนวงศ์วาน แขวงลาวยาว เขตจตุจักร กทม.10900.
BirdLife International (2017)Speciesfactsheet: Asarcornis scutulata.[online}
from: http://www.birdlife.org on( 2017,6 August )
BirdLife International (2017) IUCN Red List for birds. [online}
from: http://www.birdlife.org on (2017,6 August )
The IUCN Red List of Threatened Species. Version 2017. [online}
from:http://www.iucnredlist.org/details/22680064/0 ( 2017,6 August )