นกแก้วหัวแพรตัวผู้มีลักษณะแตกต่างจากตัวเมียคือ ตัวผู้บนหัวมีสีชมพูหรือสีกุหลาบ มีลายแต้มสีม่วง-น้ำเงิน บริเวณกระหม่อมและท้ายทอย คอหอยสีดำ และมีแถบสีดำบริเวณรอบคอ โดยเริ่มต้นของแถบจากปาก ลำตัวสีเขียว มีลายแถบสีแดงที่ไหล่ ขากรรไกรบนสีเหลืองหรือสีส้ม ขากรรไกรล่างสีดำ ส่วนตัวเมียบนหัวมีสีม่วงแกมเทา และไม่มีแถบสีดำรอบคอ คอหอยสีเขียว ตัวไม่เต็มวัยร่างกายเป็นสีเขียวตลอด ขากรรไกรบนสีเหลือง ขากรรไกรล่างสีดำ
มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตะวันออก และจีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบในพม่า ไทย กัมพูชา เวียดนาม ลาว พบตามป่าโปร่งทั่วไป เช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่ารุ่น และป่าละเมาะ ตั้งแต่พื้นที่ราบกระทั่งความสูง 900 เมตร จากระดับน้ำทะเล
นกแก้วหัวแพรกินผลไม้ เมล็ดพืช เมล็ดธัญพืช กลีบดอกไม้ น้ำหว่นดอกไม้ และยอดไม้เป็นอาหาร
นกแก้วชนิดนี้ มักชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ประมาณ 5-10 ตัว แต่ในบริเวณที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ เช่น ตามไร่ นา ที่อยู่กลางป่า อาจพบเป็นฝูงใหญ่มากนับเป็นร้อย ๆ ตัว เป็นนกที่บินได้ดี และเร็ว สามารถเกาะกิ่งไม้ได้ทุก ๆ แนว โดยเฉพาะขณะที่เกาะกิ่งอาการ ส่งเสียงร้องดังมาก
นกแก้วหัวแพรมีช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมกราคม – เมษายน ทำรังตามโพรงของต้นไม้ ซึ่งมักเป็นโพรงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเป็นโพรงที่สัตว์อื่น ๆ ทำทิ้งไว้ ไข่มีรูปร่างเกือบกลม สีขาว ไม่มีลวดลายใด ๆ แต่ละรังมีไข่ 4-5 ฟอง ตัวเมียตัวเดียวที่ทำการฟักไข่และกกลูกอ่อน ตัวผู้ช่วยเหลือบ้างแต่ค่อนข้างน้อย
เป็นนกแก้วขนาดเล็ก-กลาง มีความยาวลำตัว 33-34 เซนติเมตร
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 06 เมษายน 2560